การสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการนำเอาระบบ CMMS มาใช้เป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามและเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานประกอบการที่ไม่มีฐานข้อมูลเดิมอยู่และ/หรือไม่มีการเก็บข้อมูลหรือเอกสารที่จำเป็นไว้อย่างดีพอ การสร้างฐานข้อมูลก็จะมีความยุ่งยากและเสียเวลามากขึ้น ดังนั้นในการกำหนดรูปแบบสำหรับการนำเอาระบบ CMMS มาใช้จึงจำเป็นต้องกำหนดฐานข้อมูลที่ต้องการ และต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มา (ซึ่งอาจได้มาจากผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ) รวมถึงวิธีการที่จะได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ( ในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตอาจสามารถถ่ายโอนข้อมูลด้านต่างที่เกี่ยวกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ เช่น ข้อมูลอะไหล่ของเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น โดยผ่านทางอินเทอร์เน็ต ) โดยฐานข้อมูลที่จะสร้างขึ้นจะต้องสอดคล้องกับทิศทางและบทบาทของงานบำรุงรักษาที่ได้กำหนดไว้อีกด้วย
ฐานข้อมูลที่จำเป็นในการนำเอาระบบ CMMS มาใช้โดยทั่วไปจะประกอบด้วย
1. แฟ้มเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ต้องการการบำรุงรักษา ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆที่จำเป็นในการบำรุงรักษาของเครื่องจักรและอุปกรณ์ เช่น ชื่อ รหัส ประเภท แผนกงาน สถานที่ติดตั้ง ผู้ผลิต แบบ รุ่น ขนาด หมายเลขประจำเครื่อง ข้อมูลการสั่งซื้อ ข้อมูลของอุปกรณ์ที่สำคัญ และเอกสารประกอบ เป็นต้น
2. แฟ้มวัสดุและอะไหล่ที่เก็บไว้ในคลังพัสดุ ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวกับวัสดุและอะไหล่สำหรับการบำรุงรักษาที่เก็บไว้ในคลังพัสดุ เช่น รหัสหรือหมายเลข ชื่อ รายละเอียด ประเภท ราคา หน่วยนับ จุดสั่งซื้อ จำนวนสั่งซื้อ จุดสูงสุด จุดต่ำสุด รายละเอียดของผู้จำหน่าย เอกสารประกอบ และสถานที่เก็บ เป็นต้น
3. แฟ้มพนักงาน ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวกับพนักงานทั้งของหน่วยงานบำรุงรักษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รหัสหรือเลขประจำตัวพนักงาน ชื่อ ตำแหน่ง แผนกหรือหน่วยงาน วันที่เริ่มงาน อายุการทำงาน ค่าแรง รายละเอียดที่อยู่ รายละเอียดส่วนบุคคล และรายละเอียดการฝึกอบรม เป็นต้น
4. แฟ้มงานบำรุงรักษา ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆของงานบำรุงรักษาที่ปฏิบัติต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น รหัสของงานบำรุงรักษา ชื่อของงานบำรุงรักษา วิธีการบำรุงรักษา เป็นต้น
ที่มา
CMMS Learning Center
สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
บริษัท ไอเอส ซอฟต์แวร์ จำกัด